วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2553

ไปเที่ยวพระตำหนักดอยตุงนะ


พระตำหนักดอยตุง

ตั้งอยู่ ต.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาดอยตุง ตั้งอยู่บนสันเขาของเทือกดอยนางนอน ระดับความสูงประมาณ 1,200 ม. จากระดับน้ำทะเล มองเห็นทิวเขาสลับซับซ้อน คล้ายทิวทัศน์ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีไม้ดอกไม้ประดับที่ผลิดอกสวยงามตลอดทั้งปี เป็นจุดศูนย์กลางของเส้นทางท่องเที่ยวดอยตุง นางนอน พระตำหนักดอยตุงเริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2530 เมื่อสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี มีพระชนมายุ 88 พรรษา โดยก่อนหน้านั้นมีพระราชกระแสว่า หลังพระชนมายุ 90 พรรษา จะไม่เสด็จไปประทับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ จึงได้เลือกดอยตุง ซึ่งมีทิวทัศน์สวยงาม ขณะเดียวกัน สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี เมื่อทรงทอดพระเนตรพื้นที่ เมื่อต้นปี พ.ศ.2530 ก็ทรงพอพระราชหฤทัย และมีพระราชดำริจะสร้าง "บ้านที่ดอยตุง" พร้อมกันนี้ ยังมีพระราชกระแสรับสั่งว่าจะ " ปลูกป่าบนดอยสูง" จึงกำเนิดเป็นโครงการพัฒนาดอยตุงขึ้น
โครงการพัฒนาดอยตุงเริ่มดำเนินการโดยความร่วมมือจากหน่วยราชการทุกส่วน


เช่น กรมป่าไม้ กรมชลประทาน หน่วยงานด้านปกครอง นอกจากทำการปลูกป่าฟื้นฟูสภาพพื้นที่แล้ว ยังมีการฝึกอาชีพเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวเขาบนดอยตุง ซึ่งประกอบด้วยชาวเขาเผ่าอาข่า ลาหู่ ไทยใหญ่ และจีนฮ่อ ขณะเดียวกันยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของตนไว้ อาคารพระตำหนักดอยตุง ทำพิธีลงเสาเอก เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2530 พระตำหนักแห่งนี้ ถือเป็นบ้านหลังแรกของสมเด็จย่า สร้างขึ้นโดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ โดยเน้นที่ความเรียบง่าย และการใช้ประโยชน์ ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จย่า พระตำหนักยังได้รับการอนุรักษ์ ไว้เป็นอย่างดี และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าเที่ยวชม สถาปัตยกรรมของพระตำหนักเป็นการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมแบบล้านนากับบ้านพื้นเมืองของสวิส สร้างบนไหล่เนิน มองเห็นทิวทัศน์ได้ไกลสุดสายตา พระตำหนักมีสองชั้น และชั้นลอย ชั้นบนแยกเป็นสี่ส่วน แต่เชื่อมต่อกันเป็นอาคารหลังเดียว ที่โดดเด่นสะดุดตา คือ กาแล และไม้แกะสลักเป็นเชิงชายลายเมฆไหล ที่อ่อนช้อยโดยรอบ ภายในตำหนักล้วนใช้ไม้สน และไม้ลังที่ใส่สินค้า เป็นเนื้อไม้สีอ่อนที่สวยงาม จุดน่าสนใจอีกจุดคือ เพดานดาว ภายในท้องพระโรง แกะสลักขึ้นจากไม้สนภูเขา เป็นกลุ่มดาวต่างๆ ล้อมรอบระบบสุริยะ ชมได้อย่างไม่รู้เบื่อ ส่วนบริเวณผนังเชิงบันได แกะสลักเป็นพยัญชนะไทย พร้อมภาพประกอบ
หอพระราชประวัติ เปิดเมื่อปี พ.ศ.2546 เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จย่า ภายในแบ่งเป็นห้องต่างๆ แปดห้อง ห้องแรก แผ่นดินไทยฟ้ามืด กล่าวถึงการเสด็จถวายพระเพลิงพระบรมศพ เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2539 ห้องที่ 2 ฉันจะเดินทางด้วยเรือลำนี้ แสดงถึงปรัชญาในการดำเนินพระชนม์ชีพ ที่ประกอบด้วยหลักเหตุผล และการสร้างสรรค์ทางศิลปะ ห้องที่ 3 ภูมิธรรม ประมวลความสนพระทัยในหลักธรรมคำสั่งสอน ห้องที่ 4 หนึ่งศตวรรษ เป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จย่า และเฉลิมฉลองในวาระ 100 ปีแห่งการพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ.2443 ทั้งนี้ ทรงพระปรีชาชาญ ในการอภิบาลพระธิดา และพระโอรส ที่ต่อมาได้เถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ รวมทั้งทรงนำความรู้ใหม่ๆ มาใช้ในงานบำบัดทุกข์บำรุงสุข ของพสกนิกร จนองค์การยูเนสโก ได้ประกาศพระนามในปฏิทินบุคคลสำคัญของโลก ห้องที่ 5 เวลาเป็นของมีค่า กล่าวถึงงานฝีมือต่างๆ ของพระองค์ที่ใช้พระราชทานแก่บุคคลต่างๆ ห้องที่ 6 พระมารดาแห่งการแพทย์ชนบทและการสาธารณสุขไทย ห้องที่ 7 พระผู้อภิบาล บรรยายถึงความเป็นพระผู้อภิบาลธรรมชาติ และห้องที่ 8 ดอยตุงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวถึงโครงการพัฒนาดอยตุงที่เป็นโครงการพัฒนาระยะยาว เน้นการอนุรักษ์ธรรมชาติและคุณภาพชีวิตของประชาชน สวนแม่ฟ้าหลวง เป็นสวนดอกไม้เมืองหนาว ในหุบเขา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2535 เดิมมีพื้นที่ 12 ไร่ มีการปลูกดอกไม้หมุนเวียนสลับให้ออกดอกไม่ซ้ำกันตลอดสามฤดู ล้อมรอบประติมากรรมชื่อ "ความต่อเนื่อง" เป็นรูปเด็กยืนต่อตัวที่กลางสวน นอกจากนี้ ยังจัดแต่งสวนหินซึ่งประดับด้วยหินภูเขากลมเกลี้ยงขนาดใหญ่ สวนน้ำอุดมด้วยไม้น้ำพันธุ์ต่างๆ บัว และสวนปาล์ม ที่รวบรวมปาล์มไว้มากมายในพื้นที่ 13 ไร่ สวนแม่ฟ้าหลวงจึงมีพื้นที่ทั้งสิ้น 25 ไร่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น